ขนาดของ UPS (ยูพีเอส) และการนำไปใช้งาน
ก่อนที่เราจะไปเลือกซื้อ UPS (ยูพีเอส) มาใช้งานกัน เราต้องทราบก่อนว่าเราต้องนำ UPS (ยูพีเอส) นี้ไปใช้งานในด้านใดด้านใด เมื่อเราทราบแล้วว่าเราต้องการนำ UPS (ยูพีเอส) นี้ไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ใด จากนั้นต้องหา UPS (ยูพีเอส) ที่มีขนาดที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ต่อเชื่อมของเรา โดยขนาดของ UPS (ยูพีเอส) นี้จะมีหน่วยเป็นค่า VA หรือ KVA ซึ่งค่านี้อาจทำให้ท่านสับสนอยู่บ้างเพราะไม่ทราบว่าความจุขนาดนี้เหมาะสมกับการใช้งานขนาดใด ดังนั้นผมจึงมีวิธีการในการคำนวณหาค่า VA ที่เหมาะสมกับการใช้งานของท่านมาฝากกันครับ
ท่านลองประมาณค่าของเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณนั้นกินไฟสักกี่วัตต์ (Watts) แล้วนำค่าวัตต์นี้ไปหารด้วยค่า Power Factor (ค่านี้สามารถสังเกตได้จากบนเครื่องของ UPS (ยูพีเอส) ) แล้วท่านจะได้เป็นค่า VA ออกมา แต่ส่วนมากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปก็จะบอกขนาดวัตต์ให้คุณทราบเลย นอกจากจะใช้วิธีคำนวณเพื่อหาค่า VA ที่เหมาะสมจากข้างบนแล้ว ยังมีวิธีคำนวณอื่นๆด้วย คือ เมื่อท่านทราบว่า UPS (ยูพีเอส) มีขนาดกี่ VA แล้วและมีค่าของ Power Factor แล้ว เราก็นำค่า VA และค่า Power Factor นี้มาคูณกัน เพื่อจะได้ค่าเป็นจำนวนวัตต์ ที่ UPS (ยูพีเอส) ตัวนั้นสามารถที่จะรองรับได้
ตัวอย่างการคำนวณ
1.สมมติว่า UPS เครื่องหนึ่งมีขนาดเท่ากับ 500 VA และมีค่า Power factor เท่ากับ 0.8 เราก็สามารถที่จะหาขนาดวัตต์ที่ UPS นี้สามารถรองรับได้ คือ 500x0.8= 400 วัตต์
2.สมมติว่าขนาดของอุปกรณ์ต่อเชื่อมของคุณมีค่า 250 วัตต์ และมีค่า Power factor เท่ากับ 0.8 ก็สามารถที่จะคำนวณได้จาก 250/0.8 ซึ่งเท่ากับ 312.5 VA ดังนั้นคุณก็ควรเลือก UPS ที่มีขนาด 312.5 VA ขึ้นไป ซึ่งขนาดของ UPS (ยูพีเอส) ที่น้อยสุดในปัจจุบันมีค่า 500VA โดยเป็นค่าที่เหมาะสมมากกับการนำไปใช้งานเล็กๆน้อย ยิ่งจำนวนวัตต์ของคุณมีค่ามากเท่าไหร่ ท่านก็ควรจะหา UPS (ยูพีเอส) ที่มีค่า VA เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นครับ
ผมได้พากันทดสอบ UPS กับจักรปัก 4หัว, 6หัว (ทั้งแบบลดโต๊ะและหน้าเรียบ) จึงเอาความรู้นี้มาบอกต่อกับเพื่อนๆครับ มีรุ่นที่ทดสอบ 3 รุ่น ดังนี้
1.เครื่องจักรปัก 4หัว, 6หัว ใช้ไฟ 220 v. 750 w. (หน้าเรียบ) ไฟที่ใช้จริงตอนที่โหลดสูงสุดอยู่ที่ 610 w.
2.เครื่องจักรปัก 4หัว, 6หัว ใช้ไฟ220 v. 600 w. (ลดโต๊ะ) ไฟที่ใช้จริงตอนที่โหลดสูงสุดอยู่ที่ 530 w.
ผมขออนุญาตอธิบายแบบเรียบง่ายนะครับ ว่าทำไหมเราถึงต้องการใช้ ups หลายๆคนคงจะตอบเหมือนๆกันครับว่า ที่ต้องการเพราะว่า เวลาไฟดับเครื่องสามารถที่จะปักงานต่อไปได้สักพัก พอที่เราจะมีเวลาปิดเครื่อง เพราะฉะนั้นเราจึงพากันทดสอบ ups(เอามาทอสอบหลายยี่ห้อ แต่ขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียง) แต่ล่ะยี่ห้อแบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้ครับ
1.Line Interactive with Stabilizer
ขนาด 1500VA/900W
Output Wave form= Modified Sine wave
Transfer Time= 2 ms.
2.Line Interactive with Stabilizer
ขนาด 1500VA/870W
Output Wave form =Pure Sine Wave
Transfer Time= 2 ms.
3.True Online Double Conversion with Stabilizer
ขนาด 1000VA/700W
Output Wave form = Sine Wave
Transfer Time= 0 ms.(Zero transfer time)
จากการที่ได้ทดสอบของจริง พบว่า แบบที่ 1 และแบบที่ 2 ไม่สามารถตอบสนองตามความต้องการของเราได้เนื่องจากว่า เราทดสอบง่ายๆโดยการถอดปลั๊กไฟ ทั้งสองแบบ เพราะว่า ช่วงเวลาที่ไฟดับแล้ว ups เพื่อแปลงไฟฟ้า (DC) จากแบตเตอรี่ให้กลายเป็นไฟฟ้าสลับ (AC) จะใช้เวลา 2 ms. ในการสลับ (ค่าTransfer Time ) มีผลทำให้เครื่องหยุด(ดับไปเหมือนปิดเครื่อง) เราทดสอบต่ออีกโดยการ เปิดเครื่องอีกครั้งจาก ups เครื่องสามารถเปิดได้และทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเสียบไฟบ้าน ( เวลาสำรองจะไม่เท่ากันเนื่องจากว่า มีหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ แต่มีเวลาเหลือเฟือที่เราตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนปิดเครื่อง)
ข้อแตกต่างของสองรุ่นนี้คือคลื่นไฟฟ้า แบบที่ 1 รูปคลื่นแบบรูปสี่เหลี่ยม(Step wave) แบบที่ 2 รูปคลื่นแบบไซน์เวฟ (Sine wave) เช่นเดียวกันกับรูปคลื่นไฟฟ้าแบบปกติของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
แบบทดสอบสุดท้ายคือ แบบที่ 3 เราก็ทดสอบง่ายๆเหมือนกันโดยการถอดปลั๊กไฟ เครื่องไม่หยุดหรือดับ เครื่องสามารถปักงานต่อไปได้ เพราะว่าแบบ True Online จะไม่มีช่วงเวลาสลับไฟจาก DC เป็น AC (Zero transfer time) จากการจับเวลา สามารถปักต่อไปได้ ประมาณ 2-3 นาที(ups ร้องเตือน แต่เครื่องปักยังทำงานอยู่ ผมจึงทำการเสียบปลั๊กไฟ )
สรุปว่า แบบหรือรุ่นที่เหมาะสมกับเครื่องปักมากที่สุดคือ แบบ True Online Double Conversion with Stabilizer เพราะว่าไปดับแล้วปักงานต่อได้ (เสียอย่างเดียวราคาแพงกว่าเพื่อนเลย) จึงเอาข้อมูลของจริงที่ทดสอบจริงมาฝากเพื่อนๆครับ
ความสามารถในการสำรองไฟ
ท่านคงจะทราบว่า UPS (ยูพีเอส) แต่ละตัวก็จะมีความสามารถในการสำรองไฟฟ้าหรือค่า Backup Time ที่แตกต่างกัน ซึ่งค่านี้หมายความว่า ระยะเวลาที่ UPS (ยูพีเอส) ของคุณสามารถที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปให้อุปกรณ์ต่อพ่วงได้ โดยนับหลังจากเกิดกระแสไฟฟ้าดับหรือเหตุขัดข้องเกี่ยวกับไฟฟ้าต่างๆไปจนถึงเวลาที่ UPS (ยูพีเอส) ไม่สามารถดึงพลังงานของแบตเตอรี่เพื่อส่งให้อุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปได้ โดยระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะมีค่าที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของ UPS (ยูพีเอส) ที่ท่านใช้งานอยู่ ซึ่งบางเครื่องอาจสามารถสำรองไฟไว้ได้เป็นเวลานานในช่วงระหว่าง 10 – 30 นาที เป็นต้น ซึ่งในการบอกค่า Backup Time เป็นช่วงเวลานั้นก็เพราะว่าไม่สามารถบอกค่าที่แน่นนอนในการสำรองไฟได้ เพราะเราไม่ทราบว่าอุปกรณ์ที่นำไปต่อเข้ากับ UPS (ยูพีเอส) นี้มีจำนวนมากเท่าไร ยิ่งจำนวนของอุปกรณ์ต่อเชื่อมมีจำนวนมากขึ้นเท่าใด ระยะเวลาในการสำรองไฟนั้นก็มีค่าน้อยลงเท่านั้น ดังนั้นในการเลือกซื้อ UPS (ยูพีเอส) จึงควรที่จะหา UPS (ยูพีเอส) ที่มีระยะเวลาในการสำรองไฟที่มีค่ามากๆ ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีครับ แต่ราคาก็จะแพงตามขึ้นไปด้วยครับ
