ความเป็นมาของผ้าปักโบราณ

(1/1)

moch:
     เมื่อครั้งโบราณกาล  ค่านิยมของสังคมไทยถือว่างานเย็บปักถักร้อยเป็นความรู้อันควรค่าแก่สตรี  จึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัยจนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันมาทั้งในหมู่ราษฎรและเจ้านายชั้นสูงในราชตระกูล  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อทารกแรกเกิดก็จะมีประเพณีปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่ออาบน้ำชำระร่างกายพร้อมตัดสายสะดือเด็กเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะอุ้มเด็กลงนอนบนหลังกระด้งที่ปูผ้ารองไว้พร้อมกับจัดเตรียมสิ่งของวางไว้ด้วย
               ถ้าเป็นเด็กชาย              ก็จะเตรียมสมุด  ดินสอวางไว้
               ถ้าเป็นเด็กหญิง             ก็จะเตรียม ด้าย  และเข็มเย็บผ้าเตรียมไว้
     ทั้งนี้เพื่อเป็นเคล็ดว่าเมื่อเด็กโตขึ้น  จะได้รู้จักอ่านเขียนหนังสือ หรือรู้จักเย็บปักถักร้อย  ธรรมเนียมปฏิบัติข้องนี้บางคนอาจจะงดไม่ทำในช่วงเด็กแรกเกิด  แต่ไปทำในระยะพิธีลงอู่
ชาวไทยตั้งแต่โบราณกาลนิยมใช้ผ้าปักกันอย่างแพร่หลาย  ตามฐานะที่จะเอื้ออำนวยให้  ในการจัดหามาได้  โดยมีการปักเป็นเครื่องนุ่งห่ม  ตกแต่งร่างกาย  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องตกแต่งบ้านเรือน
     ในหมู่ราษฎรสามัญ  วัสดุที่ใช้ทำผ้าปักทำจากวัสดุที่หาได้สะดวกและมีราคาไม่แพงเหมาะสมแก่ฐานะทางสังคมของแต่ละคน สำหรับในชนชั้นสูงและเจ้านายราชตระกูล ผ้าปักที่ใช้ย่อมมีการประดับตกแต่งด้วยวัสดุมีค่า  วิจิตรอลังการ  เช่นปักด้วยไหม และไหมทอง  พร้อมกับประดับด้วยไข่มุกและพลอย  ซึ่งบางครั้งสั่งทำเป็นพิเศษจากต่างประเทศ  เพื่อให้หรูหรา
     
     การปักผ้าเพื่อเพิ่มความงามให้แก่ผืนผ้า  สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
      1.ผ้าปักไหม  เป็นการปักผ้าตกแต่งเป็นลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ
      2.ผ้าปักดิ้น  เป็นการปักผ้าที่ใช้วัสดุที่ทำมาจากโลหะมีค่ารูปทรงต่างๆเป็นวัสดุหลักในการปัก  โลหะมีค่านี้มีหลากหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกดังนี้

          ดิ้น  คือโลหะที่ดึงเป็นเส้น  แล้วนำมาขดเป็นรูปวงกลม มีรูปร่างเหมือนลวดสปริง  มีหลายชนิด  เช่น  ดิ้นมัน  ดิ้นด้าน  ดิ้นโปร่ง

          แล่ง  คือโลหะที่รีดเป็นเส้นแบน ดุจเดียวกับเส้นตอกสำหรับสานเครื่องจักรสาน

          เลื่อม  เกิดจากการนำเส้นโละที่ตัดให้ได้ความยาวตามต้องการ  แล้วตีให้เป็นรูปวงกลมแบน หรือนูนเหมือนฝาชี  หรือรูปร่างเป็นดาวหลายๆแฉก

          ไหมทอง  คือโลหะที่รีดเป็นเส้นขนาดเล็ก  แล้วนำมาปั่นควบกับเส้นไหมหรือด้าย

     การปักประเภทนี้  นิยมตกแต่งเพิ่มเติมด้วยวัสดุชนิดอื่น เช่น  รัตนชาติ  แก้ว  กระจก  หรือไหมสีต่างๆเพื่อเพิ่มความงดงาม  หรูหรา  อลังการ  และคุณค่าของผืนผ้า  ทำให้เป็นของที่สูงค่า  มีราคาแพง  มีใช้ในเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงและเจ้านายเท่านั้น  รวมทั้งนิยมปักเป็นเครื่องราชูปโภคชนิดต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์และพรพบรมวงศานุวงศ์  เช่น ฉลองพระองค์  ทรงสะพัก  พระสนับเพลา  และกรวยสำหรับคอบเครื่องราชูปโภค  เป็นต้น
     งานปักราชสำนักในครั้งโบราณมีมากมายซึ่งยังมีงานปักสิ่งของพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ และสิ่งของที่ทรงถวายเป็นพระราชกุศล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสนับสนุนงานปักสะดึงของหลวง ถึงขนาดที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯส่งนักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศญี่ปุ่น เมือ พ.ศ. 2446 ทั้งทรงจ้างครูญี่ปุ่นเข้ามาสอนวิชาเย็บปักถักร้อยที่โรงเรียนราชินี
     เมื่อสิ้นสมัยรัชกาลที่ 5แล้ว ก็ยังมิได้เลิกล้มพระราชดำริ เมื่อมีโอกาสที่จะประพาสประเทศแถบอินโดจีนในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ยังทรงพาช่างปักชาวญวนเข้ามาชุบเลี้ยงเป็นช่างปักสะดึงหลวง เพื่อให้ช่างปักสะดึงไทยจดจำเป็นแบบอย่างอีกทางหนึ่ง
     ปัจจุบันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีแผนกปักผ้า  รวมอยู่ในโครงการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ  เป็นการสืบทอดงานปักผ้าของไทยให้สืบทอดต่อไป

ที่มา: คุณไม่สามารถดูข้อความนี้.กรุณา ลงทะเบียน หรือ เข้าสู่ระบบ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ